วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559



                               เพลงกล่อมเด็กปักษ์ใต้


             เพลงกล่อมเด็กนี้ชาวใต้บางถิ่นเรียกว่า เพลงร้องเรือ และเรียกการเห่กล่อมว่า ร้องเรือ แต่บางถิ่นเรียกว่า เพลงชาน้อง คำว่าชา มีความหมายว่า กล่อมขวัญ หรือสดุดี เช่น มีการชาขวัญข้าว (สดุดีคุณแม่โพสพ) บางแห่งเรียกว่า เพลงน้องนอน ซึ่งหมายถึงเพลงกล่อมเด็กนั่นเอง แต่เพลงร้องเรือ กับเพลงเรือ นั้นหาเหมือนกันไม่
             การร้องเรือ หรือการกล่อมเด็กมีความมุ่งหมายสำคัญคือ กล่อมให้เด็กนอนหลับอย่างสบาย เด็กจะได้รู้สึกอบอุ่นทั้งทางกายและทางจิตใจ เพราะการกล่อมเด็กนั้นผู้กล่อมจะอุ้มเด็กไว้ในอ้อมแขนแนบแน่นเข้ากับอกอย่างทนุถนอม ปากก็ร้องเรือเบา ๆ พร้อมกับไกวอ้อมแขนไปมาช้า ๆ หรือไม่ก็นำเด็กใส่เปลแล้วไกวเปลช้า ๆ โดยวิธีนี้เด็กจะรู้สึกอบอุ่นใจ ลีลาการร้องช่วยกล่อมให้เด็กฟังเพลินและม่อยหลับไป
             การร้องเรือนอกจากจะมีประโยชน์ในการกล่อมเด็กโดยตรงแล้ว ยังเป็นสิ่งช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยหน่ายของผู้เลี้ยงด้วย เพราะผู้เลี้ยงได้เพลิดเพลินเสียงเพลงของตัวเอง บางคนที่สุ้มเสียงดีก็ได้อวดเสียงไปในตัว บางคนดัดแปลงลีลาการกล่อมเพิ่มการเอื้อนเสียงได้อย่างไพเราะอ่อนหวาน หากผู้กล่อมเป็นคนมีความในใจที่พูดออกได้ยาก ก็นำเรื่องนั้นมาผูกขึ้นเป็นเพลงกล่อมเด็ก ได้มีทางระบายความอัดอั้นตันใจของตนอีกด้วย เหตุนี้เองเพลงร้องเรือจึงได้มีข้อความหลายเรื่องหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น บทล้อเลียนสังคม ฝากรัก บอกรัก ตัดพ้อต่อว่า อบรมสั่งสอน และเนื้อร้องใดดีมีคติก็มักจะจดจำและ ร้องกันอย่างแพร่หลาย เมื่อบทนั้น ๆ มีผู้นำไปร้องในตำบลอื่นบางทีมีการแก้คำให้เข้ากับท้องถิ่นของตน หรือออกเสียงเพี้ยนไปตามถนัด เป็นเหตุให้เพลงกล่อมเด็กบางบทมีส่วนสำคัญตรงกันแต่ต่างกันบ้างในส่วนย่อย
             เพลงกล่อมเด็กของชาวใต้บางบทกล่าวถึงเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านที่แพร่หลาย เช่น เรื่องนางโนรา หรือพระสุธน เรื่องนางเมรี เรื่องนางสิบสอง เรื่องรามเกียรติ์ ฯลฯ จึงเป็นเหตุให้เพลงร้องเรือหรือเพลงกล่อมเด็กอำนวยประโยชน์เพิ่มจากการกล่อมให้หลับ เป็นการอบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่เด็กไปพร้อม ๆ กันด้วย
             นักแต่งเพลงกล่อมเด็กชาวใต้ บางคนเป็นนักปราชญ์ มองเห็นปรัชญาชีวิตจากสังคมหรือเกิดจากญาณทัศนะจากสิ่งแวดล้อม ได้นำเรื่องเหล่านั้นมาผูกเรื่องเป็นเพลงร้องเรือที่แฝงคติอันคมคาย และใช้โวหารเปรียบเทียบไว้อย่างลึกซึ้ง มีค่าเข้าขั้นวรรณคดีมุขปาฐะ การศึกษาเพลงร้องเรือของชาวใต้จึงเป็นแนวทางการศึกษาวรรณคดีที่ดีเยี่ยม เพราะผู้ศึกษา คือ กุลบุตรกุลธิดาเหล่านั้นไม่ต้องมีปัญหาเรื่องศัพท์สำนวนเพราะเป็นศัพท์ที่คุ้นหูกันอยู่แล้ว

                ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคใต้                 
 เพลงโผกเปล
                                   โผกเปลเหอ      โผกไว้ช่อฟ้าปาขี้ลม
                    เทโวเทวาหกเจ็ดองค์       มาห่มรักน้องก้าไม่หวย
                    ลมพัดมาไม่โถกต้อง         มาห่มรักน้องอยู่รวยรวย
                    ลมพัดไม่หวย       ต้องด้วยความรัก..(เอ้อเหอ)..น้อง
              ศัพท์ โผกเปล = ผูกเปล   ปาขี้ลม = ท่ามกลางหมู่เมฆ
                            ไม่หวย = ไม่หวั่นไหว          โถก = ถูก
               
เพลงลมพัด
                                ลมพัดเหอ                 พัดมาวอกแวก
                    อกน้องเหมือนจะแตก           ใครเลยจะเข้ามาล่วงโร้
                    ถ้าเป็นน้ำเต้าหรือขี้พร้า         จะเผาให้คนแลกันโฉโฉ
            ใครเลยจะเข้ามาล่วงโร้          ในอกในทรวงน้อง..เอ้อ...เหอ
                   ศัพท์   โร้ = รู้   ขี้พร้า = ฟักเขียว   โฉโฉ = ฉาวโฉ

เพลงปลูกมัน
                                    ไปไหนเหอ              พาน้องไปกัน
                         ถางไร่โปลกมัน                   มันไม่ลงหัว
                         แผ่นดินหมั่นดี                     แต่มันหมั่นชั่ว
                         มันไม่ลงหัว           สาวย่านไห้วัว..เอ้อ..เหอ..กิน

   เพลงนกเขียว
                                     นกเขียวเหอ             เกาะเรียวไม้พุก
                         พ่อแม่อยูหนุก                     โลกไปใช้นาย
                         ฝนตกฟ้าร้อง                       พ่อแม่เขาอยูหนุกบาย
                         โลกไปใช้นาย                      นั่งกินแต่น้ำตา
          ศัพท์ ไม้พุก=ไม้ผุ   หนุก=สนุก  โลก=ลูก   ใช้นาย=เป็นทาสเขา           บาย=สบาย

     เพลงขึ้นเหนือ
                                    ขึ้นเหนือเหอ             แลเรือเกยหาด
                         โปลกหลาตักบาตร              น้ำแห้งเห็นทราย
                         กุ้งกั้งแมงดา                        บินมาพลอยตาย
                         น้ำแห้งเห็นทราย                 พลอยตายด้วยเรือใหญ่
               ศัพท์ โปลกหลา=สร้างศาลา 
 
     เพลงลูกสาว       
                                      ลูกสาวเหอ               โลกชาวเรินออก
                         หัวนมผึ้งออก                         บอกพ่อว่าเป็นฝี
                         พ่อแม่ไปหาหมอมารักษา      หมอว่าอ้ายยะเต็มที
                         บอกพ่อว่าเป็นฝี                     โลกสาวชาวเรินออก
        ศัพท์ โลกสาว=ลูกสาว    เรินออก=บ้านถัดไปทางทิศตะวันออก
                       
    เพลงดอกเมละ
                                      ดอกเมละเหอ         น้องคือนางดอกเมละ
                         บานเหมือนอี้เปละ               ลอยอยู่ในเลขี้ผึ้ง
                         ขนตกกะไม่ต้อง                  ฟ้าร้องกะไม่ถึง
                         ลอยอยู้ในเลขี้ผึ้ง                 สาวน้อยคำนึงใจ
               ศัพท์ ดอกเมละ=ดอกมะลิ   อี้เปละ=บานเต็มที่จวนจะร่วงหล่นแล้ว เล=ทะเล คำนี้ตัดมาจาก ชเล   ขนตก=ฝนตก
        
      เพลงรักนุช
                         รักนุชเหอ                 สิ้นสุดพี่รักเจ้าหนักหนา
          เหมือนเจ้าอุณรุทธ์รักอุษา       นางสีดารักพระรามไม่คลายใจ
          พระศรีสุธนทรงศักดิ์รักโนรา    เหมือนตัวของข้ารักเจ้าหน้าใย
          ทำปรือนางเนื้อเย็นจะเห็นใจ   หกใสว่าพี่รักคนเอิน
                      ศัพท์ ทำปรือ = ทำอย่างไร        หกใส่ = ใส่ความ
                                 คนเอิน = คนอื่น

      เพลงนางแม่
                                     นางแม่เหอ             ที่เลี้ยงโลกมารักษายาก
                         พอโลกตกฟาก                   บนควายเขาทอง
                         เดือนเสเดือนห้า                 โนรามาแก้เมลยน้อง
                         บนควายเขาทอง                 ให้ช่วยชีวิตโลก
               ศัพท์ เดือนเส= เดือนสี่                 แก้เมลย = แก้บน

  สรุปประโยชน์ที่ได้จากเพลงกล่อมเด็ก
                
               ๑. เพลงกล่อมเด็กเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมในแง่ต่าง ๆ เช่น ความเชื่อ ความคิดเห็น ภูมิปัญญา ภูมิธรรม
             ๒. เพลงกล่อมเด็กสะท้อนให้เห็นประเพณีวัฒนธรรม อันเป็นเครื่องปรุงแต่งสังคม และเห็นสภาพความเจริญทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ ซึ่งมักแทรกปนอยู่ในถ้วยคำที่นำมาเปรียบเทียบ
               ๓. เพลงกล่อมเด็กให้ความรู้เรื่องศัพท์ภาษา ได้รู้ศัพท์ สำนวนตลอดจนวิธีแสดงความคิดออกมาอย่างมีศิลปะ เช่น การสร้างบรรยากาศ การใช้โวหารให้เห็นง่าย ให้ฟังได้รสทางภาษา
         ๔. ให้เกร็ดความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น เกร็ดความรู้ทางด้านวรรณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การปกครองและครอบครัว
                ๕. เพลงกล่อมเด็กเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนไปในตัว เพราะมีคติธรรมคติโลกปนอยู่ทุกบท
                ๖. เพลงกล่อมเด็กทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เป็นอาหารใจแก่ผู้ฟัง ผู้ชม และผู้สนใจ
              ๗. การศึกษาบทกล่อมเด็กในแง่ของวรรณศิลป์ ทำให้ซาบซึ้งได้ง่ายกว่า เพราะใช้คำง่าย การศึกษาเพลงกล่อมเด็กจึงเป็นการปูพื้นด้านวรรณคดีเพื่อศึกษาในขั้นต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น