วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

เพลงบอก


 เพลงบอก  เป็นเพลงพื้นเมืองที่นิยมเล่นแพร่หลายที่สุดในสมัยก่อน เมื่อถึงหน้าสงกรานต์ยังไม่มีปฏิทินบอกสงกรานต์แพร่หลายอย่างปัจจุบัน จะมีแม่เพลงนำรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์ออกป่าวประกาศแก่ชาวบ้าน โดยร้องเป็นเพลงพื้นบ้านและมีลูกคู่รับเป็นทำนองเฉพาะ จึงมีชื่อเรียกว่าเพลงบอก
               กลอนเพลงบอกดัดแปลงมาจากเพลงพื้นบ้านโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเพลงเห่ หรือเพลงฉะ บ้างก็เรียกเพลงแปดบท เพลงชนิดนี้จะมีแม่เพลงว่าเป็นแบบกลอนด้น ครั้งละ ๒ วรรค แล้วลูกคู่รับ  กลอนแปดบทเฟื่องฟูอยู่ทาง นครศรีธรรมราชประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ ปีที่แล้ว และมีการดัดแปลงมาเป็นลำดับ จนถึงรัชกาลที่ ๕ พระรัตนธัชมุณี เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราช ได้จัดระเบียบกฏเกณฑ์กลอนเพลงบอกขึ้นใหม่ โดยจะมีการรับของลูกคู่และอาจแทรกวลีหรือถ้อยคำระหว่างกลอนที่แม่เพลงกำลังว่าอยู่ เพื่อให้ลีลากลอนครึกครื้นสนุกสนาน และช่วยแก้ปัญหาการติดกลอนของแม่เพลงได้ วิธีการนี้ของลูกคู่เรียกว่า "ทอยเพลงบอก" กลอนเพลงบอกเป็น   กลอน ๒๓
คือ กลอน ๑ บท จะมี ๔ วรรค ๆ ละ ๖ คำ แต่วรรคที่ ๔ จะมีอยู่ ๕ คำ  ๑ บท จึงมี  ๒๓ คำ
               ในปัจจุบันนอกจากมีการว่าเพลงบอก เพื่อบอกข่าวสงกรานต์แล้ว ยังนำไปเล่นในโอกาสอื่นๆ เช่น บอกข่าวประชาสัมพันธ์งานบุญงานกุศล เพลงบอกร้องบวงสรวงในพิธีกรรมต่างๆ เพลงบอกร้องชา เป็นต้น

อุปกรณ์และวิธีการเล่น
๑. อุปกรณ์
               เพลงบอกคณะหนึ่งมีแม่เพลง ๑ คนและลูกคู่อีก ๔ ถึง ๖ คน มีฉิ่งเป็นดนตรีประกอบเพียงอย่างเดียว การร้องเพลงบอกใช้ภาษาถิ่นปักษ์ใต้ โดยร้องด้นเป็นกลอนสดแท้ ๆ ใช้ปฏิภาณร้องไปตามเหตุการณ์ที่พบเห็น แม่เพลงต้องมีความรอบรู้ไหวพริบดี และฝึกฝนจนแม่นยำในเชิงกลอน
               ๒. วิธีการเล่น
               สำหรับวิธีการขับเพลงบอก เมื่อแม่เพลงร้องจบวรรคแรกลูกคู่ก็รับครั้งหนึ่งโดยรับว่า "ว่าเอ้ว่าเห้" พร้อม ๆ กับจะต้องคอยตีฉิ่งให้เข้ากับจังหวะ ถ้าหากแม่เพลงว่าวรรคแรกซ้ำอีก ลูกคู่ก็จะรับว่า "ว่าทอยช้าฉ้าเหอ" และเมื่อแม่เพลงว่าไปจนจบบทแล้ว ลูกคู่จะต้องรับวรรคสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง


โอกาส/เวลาที่เล่น
          ๑. เพลงบอก นิยมเล่นกันในวันตรุษสงกรานต์ เป็นการบอกกล่าวป่าวร้องให้ชาวบ้านทุกละแวกได้ทราบว่าถึงวันขึ้นปีใหม่แล้ว โดยเฉพาะรายละเอียดการเปลี่ยนปี หรือการประกาศสงกรานต์ประจำปีซึ่งสมัยก่อนไม่ได้มีการพิมพ์ปฏิทินอย่างเช่นในปัจจุบัน พอถึงปลายเดือนสี่ย่างเดือนห้า ซึ่งเป็นระยะที่ชาวนาส่วนมากเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งขึ้นฉางเสร็จแล้ว เวลาพลบค่ำตามละแวกบ้านจะได้ยินเสียงเพลงบอกแทบจะกล่าวได้ทุกหมู่บ้านของจังหวัดนครศรีธรรมราช ออกตระเวนตามบ้านใกล้เรือนเคียง มีบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บ้านนั้น ๆ เป็นคนนำทาง คอยไปปลุกเจ้าของบ้านให้เปิดประตูรับ เมื่อเจ้าของบ้านเปิดประตูรับ แม่เพลงก็จะขับกลอนเพลงบอกขึ้นในทันที เนื้อความตอนแรกมักจะเป็นบทไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และกล่าวชมเชยเจ้าของบ้านตามสมควร เจ้าของบ้านจะเชื้อเชิญขึ้นบนเรือน ยกเอาหมากพลู บุหรี่ เหล้ายาปลาปิ้งออกมาเลี้ยง ตอนนี้เพลงบอกจะว่าเพลงเล่นตำนานสงกรานต์ในปีนั้นให้ฟัง ถ้าเจ้าของบ้านพอใจก็จะให้รางวัล
          ๒. เพลงบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ เช่น บอกข่าวเชิญไปทำบุญกุศลที่นั่นที่นี่ตามเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่าเพลงบอกเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการป่าวประกาศเรื่องต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบนั่นเอง เหตุผลก็คือในสมัยโบราณคนที่รู้หนังสืออ่านออกเขียนได้มีน้อยกิจการพิมพ์ก็ไม่แพร่หลาย ข่าวที่ใช้เพลงบอกเป็นสื่อจะได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าการสื่อสารธรรมดา เพราะฟังแล้วเกิดความสนุกด้วย
          ๓. เพลงบอกประชัน เป็นการโต้เพลงบอกให้ผู้ชมฟัง โดยการจัดเวที เพื่อประชันโต้ตอบ ไม่มีการกำหนดหัวข้อและเวลา แล้วแต่ใครจะหยิบยกเรื่องอะไรมาว่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเปรียบเทียบ และต้องว่าในทำนองข่มกัน หาทางโจมตีและกล่าวแก้ได้ทันควัน การตัดสินแพ้ชนะใช้เสียงผู้ชมเป็นหลัก โดยฟังจากเสียงโห่หรือโต้กันจนอีกฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ 


คุณค่าและแนวคิด       การเล่นเพลงบอกให้คุณค่าดังนี้

          ๑. เป็นการใช้ภูมิปัญญาเพื่อประชาสัมพันธ์ประกาศบอกข่าวแก่ชาวบ้าน ในสมัยที่การสื่อสารยังไม่เจริญและไม่มีปฏิทินบอกวันเหมือนอย่างในปัจจุบัน ทำให้ชาวบ้านทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสงกรานต์และข่าวต่าง ๆ
          ๒. น้ำเสียง ถ้อยคำในการว่าเพลงบอก ให้ความครึกครื้นสนุกสนาน ข่าวที่มากับเพลงบอก จึงได้รับความสนใจจากชาวบ้านมากกว่าบอกข่าวธรรมดา ปัจจุบันเพลงบอกจึงนำมาใช้บอกบุญ โฆษณาสินค้าต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง และเชิญชวนให้คนไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียง
          ๓. นักว่ากลอนได้แสดงความสามารถในกลอนปฏิภาณ และศิลปะในการขับกลอน การประชันอวดฝีปากในเชิงกลอน ผู้ว่ากลอนต้องมีความรอบรู้ เฉลียวฉลาด หลักแหลม ไหวพริบดี และแม่นยำในเชิงกลอน นับเป็นวิธีการพัฒนาความรู้ของชาวบ้านได้อีกวิธีการหนึ่ง




ปริศนาคำทาย


ความหมาย ที่มา ลักษณะของปริศนาคำทาย
ปริศนาคำทาย คือถ้อยคำที่เป็นคำถามพูดขึ้นเพื่อใช้สำหรับทาย ทดสอบความรู้ ความรอบคอบ มักใช้ถ้อยคำคล้องจอง ปริศนาคำทาย เป็นทั้งวรรณกรรมมุขปาฐะและไม่ใช่มุขปาฐะ เช่นปริศนา ท่าทาง ปริศนาอักษรไขว้ ปริศนาภาพ นิทานปริศนา เป็นต้น สมัยโบราณนิยมเล่นปริศนาคำทายหลังเวลาอาหารเย็นหรือตอนหัวค่ำ หรือเล่นเมื่อมีคนมาชุมนุมกัน เช่น งานบวชนาค โกนจุก ตรุษสงกรานต์ คนไทยนิยมเล่นปริศนาคำทายทุกท้องถิ่น
ลักษณะการเล่น ใช้เล่นตั้งแต่สองคนขึ้นไปไม่จำกัดเวลาและสถานที่ การถามให้ตอบหาก ผู้ตอบตอบไม่ได้ จะมีการบอกใบ้ หากใบ้แล้วยังตอบไม่ได้ ถ้าต้องการทราบคำตอบต้องยอมแพ้ในการยอมจะมีกติกาให้ปฏิบัติตาม เช่น เขกเข่า ให้ดื่มน้ำหรือกินอาหารจนอิ่ม ยอมเป็นทาส ซึ่งผู้ยอมแพ้ถือว่าเป็นการเสียหน้า ทั้งนี้เป็นการเน้นให้คิด ให้ใช้สติปัญญา จะไม่ยอมง่าย ๆ จึงถือว่าเป็นวรรณกรรมที่ส่งเสริมการใช้ความคิดสติปัญญา ปริศนาคำทายของภาคกลางขึ้นต้นด้วย อะไรเอ่ย ภาคเหนือขึ้นต้นด้วย อะหยังหวา อันหยังเอ๊าะ ภาคอีสานขึ้นต้นด้วย แม่นหยัง อิหยัง ภาคใต้ขึ้นต้นด้วย ไอ้ไหรหา ไอ้ไหรเหอ การั่ย ไหรโฉ้

ที่มา ของปริศนาคำทาย   มีที่มาจากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
1. มาจากสภาพแวดล้อมใกล้ตัว เช่น  อะไรเอ่ย ก้อนสี่เหลี่ยมน้ำเต็มเปี่ยม ไม่มีปลา ? (น้ำแข็ง) อะไรเอ่ย คิดไม่ออก เอานิ้วตอกก็คิดได้ ? (เครื่องคิดเลข)
2. มาจากธรรมชาติ   เช่น   ไอ้ไหรหา เช้ามาเย็นกลับ (ดวงอาทิตย์)    อะไรเอ่ย มาจากเมืองแขก     ตีไม่แตก ฟันไม่เข้า (เงา)
3. มาจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น   ต้นเท่านิ้วก้อย พระนั่งห้าร้อยไม่หัก (พริกขี้หนู)    ยามน้อยนุ่งเตี่ยวเขียว เฒ่ามานุ่งเตี่ยวแดง ไอ้ไหร(พริก)
4. มาจากความคิดเปรียบเทียบ  เช่น  ไหรโฉ้สูงเทียมฟ้าต่ำกว่าหญ้านิดเดียว (ภูเขา)          ไอ้ไหรหา ยิ่งต่อยิ่งสั้น ยิ่งบั่นยิ่งยาว (บุหรี่จุดไฟ , ถนน)
5. มาจากเครื่องมือในการประกอบอาชีพ เช่น   หัวสองหัว มีตัวเดียว ไอ้ไหร (ไม้คาน)       ตัวอะไรหายาวเกือบวา กินพสุธาเป็นอาจิณ

ลักษณะของปริศนาคำทาย
1. มักใช้คำคล้องจองเพื่อจดจำง่าย แสดงความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ของคนไทย เช่น   ต้นเท่าขา ใบวาเดียว (ต้นกล้วย)   ต้นเท่าครก ใบปรกดิน (ตะไคร้)
2. มักใช้การเปรียบเทียบเพื่อให้คนตอบได้ นึกภาพสิ่งนั้นได้ เช่น   ฤดูแล้งเข้าถ้ำ ฤดูน้ำเที่ยวจร ไว้ผมเหมือนมอญ นามกรว่ากระไร?    อะไรเอ่ยหน้าดำ ฟันขาว เหมือนชาวนิโกร ตะโก้ก็ไม่ใช่ (ขนมเปียกปูน)
3. มักเป็นข้อความทำนองการใช้จิตวิทยาจูงใจให้คนตอบ เช่น   ต้นสามเหลี่ยม ใบเทียมดอก ใครทายออก ได้เมียงาม (กก)    ยิบ ๆ เหมือนไข่ปูนา ใครไม่มีปัญญา ไขไม่ออกเอย (ตัวหนังสือ)
4. มักใช้ข้อความที่มีความหมายเป็นสองแง่สองมุมเหมือนอนาจาร แต่เรื่องที่ทายไม่ใช่เรื่องหยาบโลน เป็นเพียงการเพิ่มความสนุกสนานของ ผู้ใหญ่ที่มีอารมณ์ขันในเรื่องเพศของคนไทย นับเป็นความเฉลียวฉลาด ของการคิด เช่น  อะไรเอ่ย นารีมีรู พลอยสีชมพู อยู่ในรูนารี (ต่างหู)   อะไรเอ่ย เปิดผ้าเห็นขน แกะขนเห็นเม็ด แกะเม็ดเห็นรู (ข้าวโพด)

ตัวอย่างปริศนาคำทายภาคใต้
1.ไอ้ไหรหามีตีนเดียวแต่มีตารอบตัว    ตอบ  แห
2.ไอ้ไหรไม่มีต้นไม่มีใบมีแต่ดอก    ตอบ  ดอกฝน
3.อ้ายโม่เดินหน้าอ้ายบ้าตามหลังไอ้ไหร        ตอบ  คนไถนา
4.ไหรโฉ้ติดตัวมาตั้งแต่เกิดสั้นบ้างยาวบ้างเวลาแต่งงานใช้กับภรรยา  ตอบ  นามสกุล
5.ฉีกขาสองขาใส่เข้าหน่วยเดียวหมุนไปหมุนมาไอ้ไหร  ตอบ  คนลิดหมาก
6.ไอ้ไหรหามีเจ้าหญิงอยู่เมืองถ้าไม่สังไม่ออก        ตอบ  น้ำมูก

8.ไอ้ไหรเหอต้นเท่าครกลูกดกเป็นแสน         ตอบ  ต้นลาน


                               เพลงกล่อมเด็กปักษ์ใต้


             เพลงกล่อมเด็กนี้ชาวใต้บางถิ่นเรียกว่า เพลงร้องเรือ และเรียกการเห่กล่อมว่า ร้องเรือ แต่บางถิ่นเรียกว่า เพลงชาน้อง คำว่าชา มีความหมายว่า กล่อมขวัญ หรือสดุดี เช่น มีการชาขวัญข้าว (สดุดีคุณแม่โพสพ) บางแห่งเรียกว่า เพลงน้องนอน ซึ่งหมายถึงเพลงกล่อมเด็กนั่นเอง แต่เพลงร้องเรือ กับเพลงเรือ นั้นหาเหมือนกันไม่
             การร้องเรือ หรือการกล่อมเด็กมีความมุ่งหมายสำคัญคือ กล่อมให้เด็กนอนหลับอย่างสบาย เด็กจะได้รู้สึกอบอุ่นทั้งทางกายและทางจิตใจ เพราะการกล่อมเด็กนั้นผู้กล่อมจะอุ้มเด็กไว้ในอ้อมแขนแนบแน่นเข้ากับอกอย่างทนุถนอม ปากก็ร้องเรือเบา ๆ พร้อมกับไกวอ้อมแขนไปมาช้า ๆ หรือไม่ก็นำเด็กใส่เปลแล้วไกวเปลช้า ๆ โดยวิธีนี้เด็กจะรู้สึกอบอุ่นใจ ลีลาการร้องช่วยกล่อมให้เด็กฟังเพลินและม่อยหลับไป
             การร้องเรือนอกจากจะมีประโยชน์ในการกล่อมเด็กโดยตรงแล้ว ยังเป็นสิ่งช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยหน่ายของผู้เลี้ยงด้วย เพราะผู้เลี้ยงได้เพลิดเพลินเสียงเพลงของตัวเอง บางคนที่สุ้มเสียงดีก็ได้อวดเสียงไปในตัว บางคนดัดแปลงลีลาการกล่อมเพิ่มการเอื้อนเสียงได้อย่างไพเราะอ่อนหวาน หากผู้กล่อมเป็นคนมีความในใจที่พูดออกได้ยาก ก็นำเรื่องนั้นมาผูกขึ้นเป็นเพลงกล่อมเด็ก ได้มีทางระบายความอัดอั้นตันใจของตนอีกด้วย เหตุนี้เองเพลงร้องเรือจึงได้มีข้อความหลายเรื่องหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น บทล้อเลียนสังคม ฝากรัก บอกรัก ตัดพ้อต่อว่า อบรมสั่งสอน และเนื้อร้องใดดีมีคติก็มักจะจดจำและ ร้องกันอย่างแพร่หลาย เมื่อบทนั้น ๆ มีผู้นำไปร้องในตำบลอื่นบางทีมีการแก้คำให้เข้ากับท้องถิ่นของตน หรือออกเสียงเพี้ยนไปตามถนัด เป็นเหตุให้เพลงกล่อมเด็กบางบทมีส่วนสำคัญตรงกันแต่ต่างกันบ้างในส่วนย่อย
             เพลงกล่อมเด็กของชาวใต้บางบทกล่าวถึงเรื่องราวในนิทานพื้นบ้านที่แพร่หลาย เช่น เรื่องนางโนรา หรือพระสุธน เรื่องนางเมรี เรื่องนางสิบสอง เรื่องรามเกียรติ์ ฯลฯ จึงเป็นเหตุให้เพลงร้องเรือหรือเพลงกล่อมเด็กอำนวยประโยชน์เพิ่มจากการกล่อมให้หลับ เป็นการอบรมสั่งสอนและให้ความรู้แก่เด็กไปพร้อม ๆ กันด้วย
             นักแต่งเพลงกล่อมเด็กชาวใต้ บางคนเป็นนักปราชญ์ มองเห็นปรัชญาชีวิตจากสังคมหรือเกิดจากญาณทัศนะจากสิ่งแวดล้อม ได้นำเรื่องเหล่านั้นมาผูกเรื่องเป็นเพลงร้องเรือที่แฝงคติอันคมคาย และใช้โวหารเปรียบเทียบไว้อย่างลึกซึ้ง มีค่าเข้าขั้นวรรณคดีมุขปาฐะ การศึกษาเพลงร้องเรือของชาวใต้จึงเป็นแนวทางการศึกษาวรรณคดีที่ดีเยี่ยม เพราะผู้ศึกษา คือ กุลบุตรกุลธิดาเหล่านั้นไม่ต้องมีปัญหาเรื่องศัพท์สำนวนเพราะเป็นศัพท์ที่คุ้นหูกันอยู่แล้ว

                ตัวอย่างเพลงกล่อมเด็กภาคใต้                 
 เพลงโผกเปล
                                   โผกเปลเหอ      โผกไว้ช่อฟ้าปาขี้ลม
                    เทโวเทวาหกเจ็ดองค์       มาห่มรักน้องก้าไม่หวย
                    ลมพัดมาไม่โถกต้อง         มาห่มรักน้องอยู่รวยรวย
                    ลมพัดไม่หวย       ต้องด้วยความรัก..(เอ้อเหอ)..น้อง
              ศัพท์ โผกเปล = ผูกเปล   ปาขี้ลม = ท่ามกลางหมู่เมฆ
                            ไม่หวย = ไม่หวั่นไหว          โถก = ถูก
               
เพลงลมพัด
                                ลมพัดเหอ                 พัดมาวอกแวก
                    อกน้องเหมือนจะแตก           ใครเลยจะเข้ามาล่วงโร้
                    ถ้าเป็นน้ำเต้าหรือขี้พร้า         จะเผาให้คนแลกันโฉโฉ
            ใครเลยจะเข้ามาล่วงโร้          ในอกในทรวงน้อง..เอ้อ...เหอ
                   ศัพท์   โร้ = รู้   ขี้พร้า = ฟักเขียว   โฉโฉ = ฉาวโฉ

เพลงปลูกมัน
                                    ไปไหนเหอ              พาน้องไปกัน
                         ถางไร่โปลกมัน                   มันไม่ลงหัว
                         แผ่นดินหมั่นดี                     แต่มันหมั่นชั่ว
                         มันไม่ลงหัว           สาวย่านไห้วัว..เอ้อ..เหอ..กิน

   เพลงนกเขียว
                                     นกเขียวเหอ             เกาะเรียวไม้พุก
                         พ่อแม่อยูหนุก                     โลกไปใช้นาย
                         ฝนตกฟ้าร้อง                       พ่อแม่เขาอยูหนุกบาย
                         โลกไปใช้นาย                      นั่งกินแต่น้ำตา
          ศัพท์ ไม้พุก=ไม้ผุ   หนุก=สนุก  โลก=ลูก   ใช้นาย=เป็นทาสเขา           บาย=สบาย

     เพลงขึ้นเหนือ
                                    ขึ้นเหนือเหอ             แลเรือเกยหาด
                         โปลกหลาตักบาตร              น้ำแห้งเห็นทราย
                         กุ้งกั้งแมงดา                        บินมาพลอยตาย
                         น้ำแห้งเห็นทราย                 พลอยตายด้วยเรือใหญ่
               ศัพท์ โปลกหลา=สร้างศาลา 
 
     เพลงลูกสาว       
                                      ลูกสาวเหอ               โลกชาวเรินออก
                         หัวนมผึ้งออก                         บอกพ่อว่าเป็นฝี
                         พ่อแม่ไปหาหมอมารักษา      หมอว่าอ้ายยะเต็มที
                         บอกพ่อว่าเป็นฝี                     โลกสาวชาวเรินออก
        ศัพท์ โลกสาว=ลูกสาว    เรินออก=บ้านถัดไปทางทิศตะวันออก
                       
    เพลงดอกเมละ
                                      ดอกเมละเหอ         น้องคือนางดอกเมละ
                         บานเหมือนอี้เปละ               ลอยอยู่ในเลขี้ผึ้ง
                         ขนตกกะไม่ต้อง                  ฟ้าร้องกะไม่ถึง
                         ลอยอยู้ในเลขี้ผึ้ง                 สาวน้อยคำนึงใจ
               ศัพท์ ดอกเมละ=ดอกมะลิ   อี้เปละ=บานเต็มที่จวนจะร่วงหล่นแล้ว เล=ทะเล คำนี้ตัดมาจาก ชเล   ขนตก=ฝนตก
        
      เพลงรักนุช
                         รักนุชเหอ                 สิ้นสุดพี่รักเจ้าหนักหนา
          เหมือนเจ้าอุณรุทธ์รักอุษา       นางสีดารักพระรามไม่คลายใจ
          พระศรีสุธนทรงศักดิ์รักโนรา    เหมือนตัวของข้ารักเจ้าหน้าใย
          ทำปรือนางเนื้อเย็นจะเห็นใจ   หกใสว่าพี่รักคนเอิน
                      ศัพท์ ทำปรือ = ทำอย่างไร        หกใส่ = ใส่ความ
                                 คนเอิน = คนอื่น

      เพลงนางแม่
                                     นางแม่เหอ             ที่เลี้ยงโลกมารักษายาก
                         พอโลกตกฟาก                   บนควายเขาทอง
                         เดือนเสเดือนห้า                 โนรามาแก้เมลยน้อง
                         บนควายเขาทอง                 ให้ช่วยชีวิตโลก
               ศัพท์ เดือนเส= เดือนสี่                 แก้เมลย = แก้บน

  สรุปประโยชน์ที่ได้จากเพลงกล่อมเด็ก
                
               ๑. เพลงกล่อมเด็กเป็นเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมในแง่ต่าง ๆ เช่น ความเชื่อ ความคิดเห็น ภูมิปัญญา ภูมิธรรม
             ๒. เพลงกล่อมเด็กสะท้อนให้เห็นประเพณีวัฒนธรรม อันเป็นเครื่องปรุงแต่งสังคม และเห็นสภาพความเจริญทั้งทางด้านวัตถุและจิตใจ ซึ่งมักแทรกปนอยู่ในถ้วยคำที่นำมาเปรียบเทียบ
               ๓. เพลงกล่อมเด็กให้ความรู้เรื่องศัพท์ภาษา ได้รู้ศัพท์ สำนวนตลอดจนวิธีแสดงความคิดออกมาอย่างมีศิลปะ เช่น การสร้างบรรยากาศ การใช้โวหารให้เห็นง่าย ให้ฟังได้รสทางภาษา
         ๔. ให้เกร็ดความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น เกร็ดความรู้ทางด้านวรรณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การปกครองและครอบครัว
                ๕. เพลงกล่อมเด็กเป็นเครื่องอบรมสั่งสอนไปในตัว เพราะมีคติธรรมคติโลกปนอยู่ทุกบท
                ๖. เพลงกล่อมเด็กทำให้เกิดความเพลิดเพลิน เป็นอาหารใจแก่ผู้ฟัง ผู้ชม และผู้สนใจ
              ๗. การศึกษาบทกล่อมเด็กในแง่ของวรรณศิลป์ ทำให้ซาบซึ้งได้ง่ายกว่า เพราะใช้คำง่าย การศึกษาเพลงกล่อมเด็กจึงเป็นการปูพื้นด้านวรรณคดีเพื่อศึกษาในขั้นต่อไป


ความหมาย ประเภทของวรรณกรรมและวรรณคดี

ความหมายของวรรณกรรม

   คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Literature Works" หรือ "General Literature" และการใช้คำว่า "วรรณกรรม" มีปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 โดยให้คำนิยามคำว่า "วรรณกรรมและศิลปกรรม" รวมกันไว้ดังนี้
        " วรรณกรรมและศิลปกรรม หมายความรวมว่าการทำขึ้นทุกชนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ จะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปร่างอย่างใดก็ตาม เช่น สมุด สมุดเล็ก และหนังสืออื่น ๆ เช่น ปาฐกถา กถาอื่น ๆ เทศนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือนาฏกียกรรม หรือนาฏกีย-ดนตรีกรรม หรือแบบฟ้อนรำและการเล่นแสดงให้คนดูโดยวิธีใบ้ ซึ่งการแสดงนั้นได้กำหนดไว้เป็นหนังสือ หรืออย่างอื่น ๆ …"
       คำว่า "วรรณกรรม" ก็ได้นิยมใช้กันแพร่หลายมาตามลำดับ และสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรมรวมอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2485 มีหน้าที่เผยแพร่วรรณกรรมและส่งเสริมศิลปะการแต่งหนังสือ เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นทางราชการสืบต่อจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ธวัช ปุณโณทก. 2527 : 1)
       กุหลาบ มัลลิกะมาส (2517 :7) กล่าวว่า คำว่า "วรรณกรรม" มาจากการสร้างศัพท์ใหม่ แทนคำว่า "Literature" โดยวิธีสมาส หรือรวมคำ จากคำว่า วรรณ หรือ บรรณ ซึ่งหมายถึงใบไม้ หรือ หนังสือ รวมกับคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำ ดังนั้นวรรณกรรม จึงหมายถึง การกระทำที่เกี่ยวกับหนังสือ โดยความหมายของวรรณกรรม หมายถึง สิ่งซึ่งเขียนขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใด หรือเพื่อความมุ่งหมายใด ซึ่งอาจจะเป็นใบปลิวหนังสือพิมพ์ นวนิยาย คำอธิบาย ฉลากยา เป็นต้นก็ได้
       พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียง ภาพ
ส่วน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และเจตนา นาควัชระ (2520 : 58) ได้ให้ความหมายของวรรณกรรมว่า หมายถึง หนังสือ หรือเอกสาร ที่มีศิลปกรรมในฐานะที่มีรูปแบบ มีสาระเนื้อหาที่ผู้เขียนพยายามสื่อความคิดด้วยวิธีการหนึ่งมายังผู้อ่าน


       สิทธา พินิจภูวดล และคณะ (2515 : 35) กล่าวว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนในรูปบทกวีนิพนธ์ ร้อยกรอง และข้อเขียนทั้งหมดที่ใช้ภาษาร้อยแก้ว ได้แก่ บทความ สารคดี นวนิยาย เรื้องสั้น เรียงความ บทละคร บทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ ตลอดจนคอลัมน์ต่าง ๆ ในหนังสือพิมพ์
       พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ (2515 : 24) ได้กล่าวว่า วรรณกรรมหมายถึงการกระทำหนังสือหรือหนังสือที่แต่งขึ้นทั่วไปโดยมิได้จำกัดว่าเป็นหนังสือพวกใดพวกหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก       

       เอมอร ชิตตะโสภณ (2521 : 11-12,21) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึงข้อเขียนต่าง ๆ ที่ทำขึ้นด้วยความประณีต แต่ยังไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณคดี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกาลเวลาหนึ่ง ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่พิจารณาหนึ่ง และ ฯลฯ พร้อมกับชี้ประเด็นว่าหากจะพิจารณาว่า วรรณกรรม คืองานเขียนทั่ว ๆ ไปแล้วไซร้ ทุกอย่างที่เป็นงานเขียน เช่น พงศาวดาร ตัวบทกฏหมาย พระราชกฤษฎีกา ประกาศต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจดหมายรัก ก็จะกลายเป็นวรรณกรรมไปหมด เราควรคำนึงถึงความจริงข้อที่ว่า วรรณกรรมในภาษาอังกฤษก็มี "Literature" ปนอยู่ด้วย ฉะนั้น วรรณกรรมไม่ควรจะเป็นเพียงงานเขียนเฉย ๆ แต่ควรจะเป็นงานที่มีศิลปะปนอยู่ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วรรณกรรมชิ้นใดก็ตามควรจะเกิดมาจากความตั้งใจของผู้เขียนในอันที่จะถ่ายทอดความรู้สึกหรือทัศนะของเขาออกมาเป็นตัวอักษรอย่างมีศิลปะ ไม่ว่าจะจากประสบการณ์หรือแรงบันดาลใจ หรืออารมณ์สะเทือนใจก็ตาม
       สมพร มันตะสูตร (2524 : 5) อธิบายเพิ่มเติมจากคำจำกัดความที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนที่เกิดขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจ และมีศิลปะในการนำเสนอทั้งในด้านความรู้ ความคิด ความสะเทือนใจด้วย การถ่ายทอดเป็นภาษาทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา วรรณกรรมนั้นมีความดีเด่น ให้ความประทับใจ
       หรือเสถียร จันท์มาธร (2516 : 8) อธิบายว่าวรรณกรรม คือผลิตผลที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถ่ายความจัดเจนที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิต ทั้งในทางธรรมชาติและทางสังคม เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางศิลปะ รับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มความคิดที่ตนสังกัดอยู่
       อย่างไรก็ตาม ความหมายของวรรณกรรมที่มีผู้ให้ไว้หลากหลายนี้ ตามความหมายของหนังสือความรู้ทั่วไปทางวรรณกรรมนั้นจะมีความหมายกว้าง โดยกินความครอบคลุมงานหนังสือทุกชนิดหรือสิ่งพิมพ์ทุกประเภท ทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือตำรา หนังสืออ้างอิง วารสาร นิตยสาร และเอกสาร ต่าง ๆ เป็นต้น

ความหมายของวรรณคดี
           วรรณคดี  เป็นคำที่บัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Literature”ซึ่งแปลว่าการศึกษา
ระเบียบของภาษา การเขียนหนังสือหรือข้อความที่เขียนขึ้น คำว่า Literature นี้เป็นคำที่ใช้ใน
ความหมายกว้างมากในภาษาอังกฤษ อาจหมายความได้ถึงงานประพันธ์แบบต่าง ๆ งานเขียนที่
ได้รับการยกย่อง ตลอดจนงานเขียนหรือสิ่งตีพิมพ์ทั่วไป  วรรณคดีสโมสรได้กำหนดประเภท และคำจำกัดความของหนังสือที่เป็นวรรณคดีไว้ว่า หนังสือที่เป็นวรรณคดี ไม่ว่าจะเป็นหนังสือโบราณที่บัณฑิตแต่งไว้ หรือหนังสือปัจจุบันที่บัณฑิตที่แต่งขึ้นใหม่มีอยู่ 5 ประเภท คือ
1. กวีนิพนธ์ ได้แก่หนังสือที่กวีแต่งขึ้น อาจเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ หรือกลอนได้
2. ละครไทย ได้แก่ หนังสือที่เป็นบทละครรำ มักแต่งเป็นกลอนบทละคร และกำหนด
เพลงหน้าพาทย์ประกอบ
3. นิทาน ได้แก่ เรื่องเล่า เรื่องสมมติ ที่แต่งเป็นร้อยกรอง
4. ละครพูด ได้แก่ ละครไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก
5. อธิบาย ได้แก่หนังสือประเภทสารคดี หรือบทความที่มุ่งให้สาระแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญ
และในพระราชกฤษฎีกาวรรณคดีสโมสร ในมาตรา 8 ได้กำหนดคุณสมบัติของหนังสือที่ได้รับ
การยกย่องว่าเป็นวรรณคดี มีดังนี้
1. เป็นหนังสือดี คือ เป็นหนังสือที่ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วได้ประโยชน์ไม่ชักจูงผู้อ่านไป
ในทางที่ไม่เป็นแก่นสาร หรือชวนให้คิดวุ่นวายทางการเมือง
2. เป็นหนังสือแต่งดี คือ เป็นหนังสือที่เรียบเรียงด้วยภาษาไทยที่ดี ถูกต้องตามแบบการใช้
ภาษาไทยที่ใช้ในสมัยโบราณและสมัยปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของวรรณคดี ดังที่ได้กล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกาวรรณคดีสโมสร แล้ว
ก็พอจะกล่าวถึงความหมายของคำว่า วรรณคดี ที่คนส่วนใหญ่ใช้กันในปัจจุบันนี้ได้ว่า หมายถึง
หนังสือ หรือ งานประพันธ์ที่มีคุณค่าอันเกิดจากศิลปะแห่งการใช้ถ้อยคำ มีกลวิธีในการแต่งที่ดี มีรูปแบบและเนื้อหาที่ผสมผสานกลมกลืนกัน มีจินตนาการที่สามารถโน้มน้าวให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์สะเทือนใจตลอดจนมีคุณค่าในด้านแนวคิดที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง 

ประเภทของวรรณกรรมและวรรณคดี

        เนื่องจาก วรรณคดี เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรม ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้จะมีความแตกต่างบ้างก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงประเภทของวรรณกรรม ก็จะกล่าวถึง ประเภทของวรรณคดีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีผู้เขียนได้แบ่งประเภท ตามเกณฑ์และลักษณะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1) แบ่งตามลักษณะการประพันธ์ มี 2 ประเภท คือ
        
 1. วรรณกรร มร้อยแก้ว คือ วรรณกรรมที่ไม่กำหนดบังคับคำหรือฉันทลักษณ์ เป็นความเรียงทั่ว ไป การเขียนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น
         1.1 บันเทิงคดี (Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ และให้ข้อคิด คตินิยม หรือ สอนใจ แก่ผู้อ่านเป็นวัตถุประสงค์รอง ดังที่ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2518 : 9) กล่าวว่า บันเทิงคดี เป็นวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์มีจุดประสงค์ที่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบันเทิงคดีเป็นวรรณกรรมที่ไร้สาระ บันเทิงคดีอาจมีสาระในด้านปรัชญา ด้านความเข้าใจการเมือง หรือประวัติศาสตร์ดีกว่าหนังสือสารคดีบางเรื่องก็ได้ วรรณกรรม ประเภทนี้ผู้ประพันธ์มุ่งหมายให้ความบันเทิง ต้องกระทบอารมณ์ผู้อ่าน มิใช่สำหรับให้ผู้อ่านได้ความรู้หรือความคิดเห็น บันเทิงคดีสามารถจำแนกย่อยได้ดังนี้
                1.1.1 นวนิยาย (Novel) คือ การเขียนผูกเรื่องราวของชีวิตอันมีพฤติกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์กัน ในลักษณะจำลองสภาพชีวิตของสังคมส่วนหนึ่งส่วนใด โดยมีความมุ่งหมายให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่าน คือให้ผู้อ่านเกิดสะเทือนอารมณ์ไปกับเนื้อเรื่องอย่างมีศิลปะ
                1.1.2 เรื่องสั้น (Short Story) คือ การเขียนเรื่องจำลองสภาพชีวิตในช่วงสั้น คือมุมหนึ่งของชีวิต หรือเหตุการณ์หนึ่ง หรือช่วงระยะหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจผู้อ่าน หรือ นิยามอีกอย่างหนึ่ง ว่า เรื่องสั้น คือ วิกฤตการณ์ชุดหนึ่ง มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน และนำไปสู่จุดยอดหนึ่ง (Climax) ( ธวัช บุณโณทก 2537 : 12)
                1.1.3 บทละคร (Drama) คือการเขียนที่ใช้ประกอบการแสดงเพื่อให้เกิดความบันเทิง เช่น บทละครวิทยุ บทละครพูด และบทละครโทรทัศน์ เป็นต้น
        1.2 สารคดี (Non-Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้ หรือ ความคิด เป็นคุณประโยชน์สำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบายเชิงวิจารณ์ เชิงพรรณนาสั่งสอน โดยอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างมีระบบมีศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อมุ่งตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นให้แก่ผู้อ่าน และก่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญาแก่ผู้อ่าน ซึ่ง ธวัช ปุณโณทก ( 2527 : 11 ) ได้แบ่งย่อยดังนี้
                1.2.1 ความเรียง (Essay) คือ การถ่ายทอดความรู้ อาจจะได้มาจากการประสบ หรือตำราวิชาการ มาเป็นถ้อยความตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามความรู้ ความคิดที่ผู้เขียนเสนอมา บางครั้งมีผู้เรียกว่า "สารคดีวิชาการ"
                1.2.2 บทความ ( Article) คือความคิดเห็นของผู้เขียนต่อเรื่องราวที่ประสบมาหรือต่อข้อเขียนของผู้อื่น หรือต่อเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ในการเขียนบทความผู้เขียนมุ่งที่จะบอกถึงความเห็น ความรู้สึกนึกคิดมากกว่าที่จะถ่ายถอดความรู้เหมือนความเรียง
                12.3. สารคดีท่องเที่ยว ( Travelogue) คือ การบันทึกการท่องเที่ยวและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นขณะที่ท่องเที่ยวไป โดยมุ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้อ่านและให้ความเพลิดเพลินด้วย
                1.2.4. สารคดีชีวประวัติ (Biography) คือ การบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคลิกภาพหนึ่งมุ่งที่จะให้เห็นสภาพชีวิตประสบการณ์ของบุคลิกภาพนั้นทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ และนิยาย
                1.2.5. อนุทิน (Diary) คือการบันทึกประจำวันที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง จะเป็นการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของตนเองในประจำวัน หรืออาจจะบันทึกประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตือนความจำ
                1.2.6. จดหมายเหตุ ( Archive) คือ การบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของทางราชการ หรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของสถาบัน หน่วยงานหรือตระกูล โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานเชิงประวัติเหตุการณ์ของชาติ หรือของสถาบัน หรือหน่วยงานราชการ หรือของตระกูล
          2. วรรณกรรม ร้อยกรอง คือ วรรณกรรมที่การเขียนมีการบังคับรูปแบบด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เช่น บังคับคณะ บังคับคำ และแบบแผนการส่งสัมผัสต่าง ๆ บางครั้งเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า กวีนิพนธ์ หรือ คำประพันธ์ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต เป็นต้น นอกจากนี้วรรณกรรมร้อยกรองยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ดังนี้
        2.1. วรรณกรรมประเภทบรรยาย (Narrative) คือ วรรณกรรมร้อยกรองที่มีโครงเรื่อง ตัวละคร และเหตุการณ์ต่าง ๆ ผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไป เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา เป็นต้น
        2.2. วรรณกรรมประเภทพรรณนา หรือ รำพึงรำพัน ( Descriptive or Lyrical) มักเป็นบทร้อยกรองที่ผู้แต่งมุ่งแสดงอารมณ์ส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีโครงเรื่อง เช่น นิราศ และเพลงยาว เป็นต้น (ประทีป เหมือนนิล . 2519 : 22-23.)
        2.3. วรรณกรรมประเภทบทละคร (Dramatic) เป็นบทร้อยกรองสำหรับการอ่านและใช้เป็นบทสำหรับการแสดงด้วย เช่น บทพากย์โขน บทละครร้อง บทละครรำ เป็นต้น

2) แบ่งตาม ลักษณะเนื้อเรื่อง มี 2 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมบริสุทธิ์ (Pure Literature) หมายถึง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจต่าง ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้วรรณกรรมนั้น ทรงคุณค่าในทางใดเป็นพิเศษ แต่วรรณกรรมนั้นอาจจะล้ำค่า ในสายตาของนักอ่านรุ่นหลังๆ ก็เป็นได้ แต่มิได้เป็นเจตจำนงแท้จริงของผู้แต่ง ผู้แต่งเพียงแต่จะแต่งขึ้นตามความปรารถนาในอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ
        2. วรรณกรรมประยุกต์ (Applied Literature) หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยมีเจตจำนงที่สนองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจเกิดความบันดาลใจที่จะสืบทอดเรื่องราวความชื่นชมในวีรกรรมของผู้ใดผู้หนึ่งนั่นหมายถึงว่า มีเจตนาจะเขียนเรื่องราวขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง หรือมีจุดมุ่งหมายในการเขียนชัดเจน มิใช่เพื่อสนองอารมณ์อย่างเดียว เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมการละคร และอาจหมายรวมถึงพงศาวดารต่าง ๆ ด้วย (สมพร มันตะสูตร 2526 : 6)


3) แบ่งตามลักษณะการถ่ายทอด มี 2 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการบอก การเล่า และการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสหรือในวาระใด เช่น ในการนอน การเต้น การรำ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ
วรรณกรรมมุขปาฐะมีปรากฏมานาน จึงมีอยู่ทุกภูมิภาคของโลก การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวรรณกรรมประเภทนี้เป็นผลสืบเนื่องจากภาษาของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีภาษาพูดก็ย่อมมีโอกาสถ่ายทอดจิตนาการและอารมณ์ได้มากขึ้น ประกอบกับภาษาพูดสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่าภาษาเขียน ดังนั้นวรรณกรรมมุขปาฐะจึงมีมาก และมีมานานกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น
        2. วรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเขียน การจาร และการจารึก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำลงบนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ เยื่อไม้ ใบไม้ แผ่นดินเผา หรือ ศิลา
วรรณกรรมลายลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่พัฒนาสืบต่อมาจากวรรณกรรมมุขปาฐะ กล่าวคือ เกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้สัญลักษณ์หรือตัวอักษร เพื่อบันทึกความในใจ ความรู้สึก และความคิดเห็นของตน เพื่อถ่ายทอกให้ผู้อื่นรับรู้นั่นเอง และเนื่องจากตัวอักษรเป็นเครื่องมือบันทึกที่สื่อสารกันได้กว้างไกลและยั่งยืน มนุษย์จึงสร้างวรรณกรรมประเภทนี้กันอย่างกว้างขว้างในทุกภูมิภาคของโลกขณะเดียวกันก็พัฒนาเทคนิคและรูปแบบการสร้างวรรณกรรมให้เจริญมาเป็นลำดับ วรรณกรรมลายลักษณ์จึงกลายเป็นมรดกที่มนุษยชาติไม่อาจปฏิเสธได้ (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. 2525 : 25)


4) แบ่งตามลักษณะของเนื้อหา (ซึ่งจะเน้นไปทางด้านวรรณคดีไทยเป็นส่วนใหญ่) มี 7 ประเภท คือ
        1. วรรณคดีนิราศ วรรณคดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการเขียนในทำนองบันทึกการเดินทาง การพลัดพราก การคร่ำครวญเมื่อต้องไกลที่อยู่อาศัย คนรักหรือสิ่งรัก การเขียนในเชิงนิราศนี้มีรูปแบบโดยเฉพาะ เป็นวรรณคดีที่กวีนิยมเขียนกันมาก มีวรรณคดีมากมายหลายเรื่อง เช่น กำสรวลศรีปราชญ์ ทวาทศมาส นิราศของสุนทรภู่ นิราศของพระยาตรัง นิราศนรินทร์ เป็นต้น
        2. วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ เป็นวรรณคดีในเชิงประวัติศาสตร์การบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินในทำนองสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ วรรณคดี ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเป็นจำนวนมากมาย เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย เพลงยาวเฉลิมพระเกียติร และโคลงเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีประเภทที่ต้องการบันทึกเรื่องราวสำคัญบางประการ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
        3. วรรณคดีศาสนา วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม คือ มีอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น มหาชาติฉบับต่าง ๆ พระปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิฉบับต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีจากชาดก ทั้งนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก นันโทปทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น
         4. วรรณคดีที่เกี่ยวกับพิธีการขนบธรรมเนียมประเพณี เนื้อหาของวรรณคดีประเภทนี้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ พิธีการต่าง ๆ เช่น ตำรานางนพมาศ พระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ
        5. วรรณคดีสุภาษิต วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสอน ข้อเตือนใจ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตพระร่วง โคลงราชสวัสดิ์ อิศรญาณภาษิต เป็นต้น
        6. วรรณคดีการละครหรือนาฏวรรณคดี วรรณคดีประเภทนี้นำไปใช้แสดงละคร หรือการแสดงทางนาฏศิลป์ในลักษณะอื่น เช่น เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง ไกรทอง เป็นต้น
        7. วรรณคดีนิยาย วรรณคดีประเภทนี้ถ้าเขียนเป็นการประพันธ์ประเภทกลอนจะเรียกว่ากลอนประโลมโลกย์ วรรณคดีนิยายนี้มีทั้งไม่เขียนเป็นกลอน เช่น ลิลิตพระลอ และที่เขียนเป็นกลอน เช่น พระอภัยมณี เสภาขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น


5) แบ่งตามบ่งเกิดหรือที่มาของวรรณกรรม มี 6 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมอันเกิดจากการบอกเล่า หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกหรือถ่ายทอดจากผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน หรือนักปราชญ์แต่ละสาขาของความรู้ วรรณกรรมจากบุคคลเหล่านี้จึงเป็นวรรณกรรมที่เรียกกันว่า "ตำรา" วรรณกรรมประเภทนี้อาจจะสมบูรณ์ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือและการพิสูจน์ โดยกรรมวิธีต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปก็มักเชื่อโดยอนุโลมว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้
        2. วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจาการหยั่งรู้โดยญาณ ซึ่งหมายถึง ปัญญา การหยั่งรู้ อาจจะเกิดจากการครุ่นคิด ไตร่ตรอง เพื่อหาคำตอบ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้พ้นสงสัย แล้วจู่ ๆ ก็เกิดความรู้ในเรื่องนั้นผุดขึ้นในความคิดและได้คำตอบโดยไม่คาดฝัน จากคำตอบนั้นจึงได้นำมาบันทึกเป็นวรรณกรรม เราเรียกวรรณกรรมนี้ว่า วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์ในบางกรณีเมื่อมีแรงดลใจหรือจินตนาการบางอย่าง ก็อาจเกิดการหยั่งรู้ขึ้น ความรู้ที่เกิดจากญาณทัศน์นี้ นับเป็นจุดกำเนิดจองความรู้เชิงปรัชญา และพัฒนาไปเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์บ้าง สังคมศาสตร์บ้าง และศิลปกรรมบ้าง จนในที่สุดที่กลายเป็นวรรณกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ ไป เช่น วรรณกรรมวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมสังคมศาสตร์ เป็นต้น
        3. วรรณกรรมอันเกิดจากเหตุผล หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากการให้หลักของเหตุผล ซึ่งเป็นวิธีการทางตรรกวิทยา วรรณกรรมประเภทนี้เป็นบันทึกความรู้ที่เกิดจากการอ้างอิงความเป็นจริง หรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ วรรณกรรมทางคณิตศาสตร์นับเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้โดยแท้จริง
        4. วรรณกรรมอันเกิดจากคัมภีร์ หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากความเชื่อหรือวรรณกรรมที่บันทึกความเชื่อของมนุษย์ วรรณกรรมดังกล่าวนี้มีมูลฐานมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นควาามรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ศาสดา เพื่อนำไปเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ประมวลไว้ในคัมภีร์ทางศาสนา เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกของศาสนาพุทธ คัมภีร์อุปนิษัท และภควัทคีตาของศาสนาฮินดู คัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ และคัมภีร์อัลกรุอานของศาสนาอิสลาม เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าศาสนาสำคัญ ๆ ของโลก มักจะมีคัมภีร์เป็นแหล่งประมวลคำสอนของศาสนา โดยถือว่าเป็นพระวัจนะของศาสดา วรรณกรรมประเภทนี้จึงได้รับการยอมรับจากศาสนิกชน หรือผู้นับถือศาสนานั้น ๆ ว่าเป็นวรรณกรรมอันเป็นสัจธรรม หรือความจริงอันแท้
        5. วรรณกรรมอันเกิดจากการประจักษ์ หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกความรู้มาจากวิธีวิทยาศาสตร์ การสังเกต การทดลอง การพิสูจน์ความจริง โดยการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล วรรณกรรมประเภทนี้นับเป็นรากฐานของวิชาการวิจัยในยุคปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันวงการศึกษา และอาชีพทั้งหลาย ต่างนำเอาวิธีการวิจัยเข้าไปใช้ในการพัฒนางานของตนอย่างกว้างขวาง จึงนับเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดในปัจจุบัน
        6. วรรณกรรมอันเกิดจากวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจากศิลปะการประพันธ์ โดยมีสุนทรียภาพ จินตนาการ และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยการผลิตสิ่งเร้าที่สะท้อนเข้าสู่จิตนั้นมีหลายอย่างสุดแท้แต่ว่าบุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมใดสิ่งเร้าที่นับว่ามีอิทธิพล และเป็นปัจจัยในการสร้างวรรณกรรมมาก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ ศาสนา และความเชื่อ เป็นต้น (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ 2525 : 25-27)


6) แบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน มี 3 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมที่ให้ความรู้หรือความคิด เช่น สารคดี รายงาน ตำรา พระราชพิธีพงศาวดาร
        2. วรรณกรรมมุ่งให้ความเพลิดเพลิน เช่น บทละคร นิทาน นิยาย เรื่องสั้น
        3. วรรณกรรมที่มุ่งผสมผสานความรู้ ความคิด และความบันเทิงเข้าด้วยกัน ผลงานนี้อาจอยู่ในวรรณคดีประเภทต่าง ๆ ได้ (วิภา กงกะนันทน์ 2523 : 32-34)
สำหรับ ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ (2525 : 28) แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้คือ
        1. วรรณกรรมเชิงวิชาการ หมายถึงวรรณกรรมที่มีจุดประสงค์หรือมีพันธกิจหลัก คือการให้ความรู้ความคิด อันได้จากการบอกเล่า จากญาณทัศน์ จากเหตุผล จากคัมภีร์ และจากการประจักษ์ วรรณกรรมประเภทนี้มุ่งเสนอเนื้อหาแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญและไม่สู้จะให้ความสำคัญในเรื่องรูปแบบเทคนิค และกลวิธีการประพันธ์มากนัก กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการนั่นเอง
        2. วรรณกรรมเชิงวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยเน้นรูปแบบ เทคนิค และกลวิธีการประพันธ์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อเรื่อง แต่การเสนอความรู้ความคิดนั้น ไม่เน้นในเรื่องข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงเท่ากับความบันเทิง และสุนทรียภาพ กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความบันเทิงและสุนทรียภาพนั่นเอง

7) แบ่งตามต้นกำเนิดของวรรณกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
        1. วรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากความคิด ความริเริ่ม การค้นพบ และ ประสบการณ์ของผู้ผลิตเองสำหรับนำไปใช้งานหรือเผยแพร่แก่สาธารณชน เช่น เอกสารจดหมายเหตุ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย และเอกสารส่วนบุคคล เป็นต้น
        2. วรรณกรรมทุติยภูมิ (Secondary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากการรวบรวม วิเคราะห์เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลมาจากวรรณกรรมปฐมภูมิ เช่น หนังสือตำราต่าง ๆ หนังสือพจนานุกรม และหนังสือสารานุกรม เป็นต้น
        3. วรรณกรรมตติยภูมิ (Tertiary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจาก การรวบรวม วิเคราะห์ เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลจากวรรณกรรมทุติยภูมิเป็นหลัก เช่น เอกสารคำสอน รายงานของนักศึกษา และคู่มือศึกษากระบวนวิชาต่าง ๆ เป็นต้น
จากทัศนะต่าง ๆ ที่มีผู้จำแนกประเภท ของวรรณกรรมนั้นจะทำให้ผู้ที่ศึกษาวรรณกรรม สามารถที่จะเข้าใจถึงรูปแบบต่าง ๆ ของวรรณกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน และตามรูปแบบหรือวัสดุและสื่อของการเสนอวรรณกรรม จะช่วยให้ผู้ศึกษาวรรณกรรมสามารถศึกษารูปแบบวรรณกรรมในศาสตร์ต่าง ๆ เชิงวิจารณ์

 

 ประวัติความเป็นมาในการศึกษาวรรณกรรมท้องถิ่น

             การศึกษาวรรณกรรมไทย (รวมทั้งวรรณคดี หรือวรรณกรรมแบบฉบับ) เริ่มศึกษาเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยมีการตั้งโบราณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ได้รวบรวม ชำระ ซ่อมแซมวรรณกรรมที่กระจัดกระจาย โดยผู้รวบรวมคือ นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ขุนนาง ซึ่งรู้จักแต่วรรณคดีหรือวรรณกรรมในราชสำนักเท่านั้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีการตั้งวรรณคดีสโมสร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยดำเนินการต่อจากโบราณคดีสโมสร โดยได้จัดประเภทของวรรณกรรมและพิจารณาว่าวรรณกรรมใดสมควรยกย่อง แต่การศึกษาก็อยู่ในวงจำกัด การศึกษาจึงจำกัดอยู่เพียงในวรรณกรรมที่ชำระได้ในครั้งนั้นเท่านั้น ไม่ได้ศึกษาวรรณกรรมอื่น ๆ ให้กว้างขวางออกไป วรรณกรรมชาวบ้าน ชาววัดจึงถูกทอดทิ้งอยู่เป็นนาน เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๐๒ สถาบันการศึกษาระดับอุดมได้นำ
 ศึกษา ได้แนวคิดจาสกตะวันตกที่นิยมศึกษาเรื่องราวทางพื้นบ้าน และเสนอเป็นวิทยาการในหลักสูตร ที่เรียกชื่อว่า Folklore ใช้ชื่อว่า คติชาวบ้านบ้าง คติชนวิทยาบ้าง จากการศึกษาทำให้ทราบถึงแนวคิด คตินิยม ปรัชญาชีวิตของสังคมในท้องถิ่นต่าง ๆ ของไทย มีความแตกต่างจากปรัชญาชีวิตและสังคมของภาคกลางเกือบสิ้นเชิง จึงทำให้มีการหันมาศึกษาวรรณกรรมในแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น จนต่อมาได้มีการจัดรายวิชาวรรณกรรมท้องถิ่นในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.๒๕๒๔ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๓๓)

ความหมายของวรรณกรรมท้องถิ่น

              วรรณกรรมท้องถิ่น หมายถึง วรรณกรรมที่เป็นมุขปาฐะ (ใช้ถ้อยคำเล่าสืบต่อ ๆ กันมา) และลายลักษณ์ (บันทึกในวัสดุต่าง ๆ เช่น ในใบลาน และบันทึกในกระดาษที่เรียกว่า สมุดไทย สมุดข่อย เป็นต้น) วรรณกรรมเหล่านี้ปรากฏอยู่ในท้องถิ่นภาคต่าง ๆ ของไทย โดยคนท้องถิ่นนั้นเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมา รูปแบบฉันทลักษณ์เป็นไปตามความนิยมของคนท้องถิ่น ภาษาที่ใช้เป็นภาษาของท้องถิ่นนั้น ๆ วรรณกรรมท้องถิ่นมีอยู่ในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย เช่น ท้องถิ่นใต้ ท้องถิ่นเหนือ ท้องถิ่นอีสาน ท้องถิ่นภาคกลาง  


ลักษณะของวรรณกรรมท้องถิ่น

               วรรณกรรมท้องถิ่นมีลักษณะที่สรุปได้ ดังนี้
                    ๑. ชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นผู้สร้างสรรค์ คัดลอกและเผยแพร่
                   ๒. กวีผู้ประพันธ์ ส่วนมากคือ พระภิกษุและชาวบ้าน โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง
                   ๓. ภาษาที่ใช้เป็นภาษาประจำถิ่น เป็นภาษาที่เรียบง่ายมุ่งการสื่อความหมายกับผู้อ่าน
สำนวนโวหารเป็นของท้องถิ่น
                   ๔. เนื้อเรื่องมุ่งให้ความบันเทิงใจ บางครั้งได้สอดแทรกคติธรรมของพุทธศาสนา
                   ๕. ค่านิยมยึดปรัชญาแบบชาวพุทธ



             การเปรียบเทียบวรรณกรรมแบบฉบับกับวรรณกรรมท้องถิ่น

วรรณกรรมแบบฉบับ(วรรณคดี)
         ๑. ชนชั้นสูง เจ้านาย ข้าราชสำนักมีสิทธิมีส่วนเป็นเจ้าของ
                 ๑.๑ ผู้สร้างสรรค์ รวมถึงจดบันทึก คัดลอก
                 ๑.๒ ผู้ใช้(อ่าน ฟัง)
                 ๑.๓ อนุรักษ์
                 ๑.๔ แพร่หลายในราชสำนัก
          ๒. กวี ผู้ประพันธ์ เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต หรือเจ้านาย ฉะนั้นมโนทัศน์ ค่านิยมและทัศนะที่เห็นสังคมสมัยนั้นจึงจำกัดอยู่ในรั้วในวัง หรือมีการสอดแทรกสภาวะสังคมก็เป็นแบบมองเห็นสังคมอย่างเบื้องบนมองลงมา
          ๓. ภาษาและกวีโวหารนิยมการใช้คำศัพท์อุดมไปด้วย คำบาลีสันสกฤต โดยเชื่อว่าเป็นการแสดงภูมิปัญญาของกวี แพรวพราวไปด้วยกวีโวหารที่เข้าใจยาก
          ๔. เนื้อหาส่วนใหญ่จะมุ่งในการยอพระเกียรติ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ต่างก็มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการผ่อนคลาย ทางด้านอารมณ์และศาสนาอยู่ไม่น้อย
          ๕. ค่านิยมอุดมคติยึดปรัชญาชีวิตแบบสังคมชาวพุทธ และยกย่องสถาบันกษัตริย์อีกด้วย




วรรณกรรมท้องถิ่น

          ๑. ชาวบ้านทั่วไปมีสิทธิเป็นเจ้าของ คือ
                ๑.๑ ผู้สร้างสรรค์ ผู้ใช้
                ๑.๒ อนุรักษ์
                ๑.๓ แพร่หลายในหมู่ชาวบ้าน
          ๒. กวีผู้ประพันธ์ เป็นชาวพื้นบ้าน หรือพระภิกษุสร้างสรรค์วรรณกรรมขึ้นมา ด้วยใจรักมากกว่า บำเรอท้าวไท้ ธิราช ผู้มีบุญฉะนั้นมโนทัศน์เกี่ยวกับสภาวะของสังคมจึงเป็นสังคมชาวบ้านแบบประชาคมท้องถิ่น
           ๓. ภาษาที่ใช้เป็นภาษาง่าย ๆ เรียบ ๆ มุ่งการสื่อความหมายเป็นสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นภาษาของท้องถิ่นนั้น ละเว้นคำศัพท์บาลีสันสกฤต โวหารนิยมสำนวนที่ใช้ในท้องถิ่น
             ๔. เนื้อหา ส่วนใหญ่มุ่งในทางระบายอารมณ์ บันเทิงใจ แต่แฝงคติธรรมทางพุทธศาสนา แม้ว่าตัวเอกของเรื่องจะเป็นกษัตริย์ก็ตาม แต่มิได้มุ่งยอพระเกียรติมากนัก
             ๕. ค่านิยมและอุดมคติโดยทั่วไปเหมือนกับวรรณกรรมแบบฉบับ ยกย่องสถาบันกษัตริย์แต่ไม่เน้นมากนัก




คุณค่าของวรรณกรรมท้องถิ่น

วรรณกรรมท้องถิ่นมีประโยชน์มากมายหลายประการดังนี้
             ๑. ให้ความบันเทิงใจแก่ชุมชน เช่น ขับเสภาในภาคกลาง เล่าค่าวหรือขับลำนำภาคเหนือ อ่านหนังสือในบุญเงือนเฮือนดีในภาคอีสาน การสวดหนังสือและสวดด้านของภาคใต้
            ๒. ให้เข้าใจในค่านิยม โลกทัศน์ของแต่ละท้องถิ่นโดยผ่านทางวรรณกรรม
            ๓. เข้าใจวัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น
            ๔. ก่อให้เกิดความรักถิ่น หวงแหนมาตุภูมิ และรักสามัคคีในท้องถิ่นของตน
(ที่มา : ธวัช ปุณโณทก วรรณกรรมท้องถิ่น สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ,๒๕๒๕)